วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Dynamic DNS กุญแจสู่โลกออนไลน์เพื่อธุรกิจ SME

Dynamic DNS กุญแจสู่โลกออนไลน์เพื่อธุรกิจ SME

โดย ธีรภัทร มนตรีศาสตร์,RHCE,LPIC-2 

แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ขนาดของธุรกิจมีขนาดเล็กลง ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ( OTOP ) ที่ประสบความสำเร็จ ปัญหาพลังงานและการเดินทางในเมืองหลวง รวมไปถึงค่านิยมสมัยใหม่ที่ส่งเสริมให้การเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นสิ่งท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ ธุรกิจขนาดเล็ก/ขนาดกลางหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า SME จึงเกิดขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเทคโนโลยีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ราคาถูกเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เว็บไซต์ อีเมล์ และการสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจึงเป็นอาวุธสำคัญที่ SME สามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในธุรกิจของตนเองได้ไม่น้อยหน้าบริษัทใหญ่ๆ เริ่มตั้งแต่ใช้งานในด้านการประชาสัมพันธ์ การลูกค้าสัมพันธ์ การดำเนินธุรกรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและลูกค้า ตลอดจนงานวิจัยและพัฒนาขององค์กรเองสำนักงานของธุรกิจที่มีภาพลักษณ์เป็นเลิศและสมบูรณ์แบบในสายตาของลูกค้าผ่านหน้าเว็บไซต์ อาจเป็นเพียงบ้านหลังน้อยของผู้ประกอบการ ที่เรียกว่า โฮมออฟฟิส ซึ่งแวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายในระดับ SOHO ( Small Office / Home Office ) หรือเป็นแนวคิดรูปแบบบ้านในอนาคตที่เรียกว่า Intelligent Homeดังนั้นหัวใจสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจ SME หรือโฮมออฟฟิสเป็นจริงขึ้นได้ คงหนีไม่พ้นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในบ้าน ระบบสื่อสารอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีความเร็วสูง และอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติต่างๆDNS ผู้ทำให้มีตัวตนในโลกไซเบอร์DNS ( Domain Name Service ) เป็นงานบริการที่อยู่เบื้องหลังการอ้างถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ใหญ่น้อยทั้งหลายในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดังเช่นที่เราอ้างถึงเว็บไซต์ต่างๆ โดยอ้างถึงที่อยู่ของเว็บไซต์ผ่านชื่อโดเมนที่เว็บไซต์นั้นๆ ตั้งอยู่ เช่น www.yahoo.com เป็นต้นชื่อที่อยู่ของเว็บไซต์ดังตัวอย่างมีส่วนสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของชื่อโฮสต์ ( ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ ) คือ www และส่วนของโดเมนคือ yahoo.com ทั้งสองส่วนรวมกันทำให้สามารถอ้างถึงชื่อของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นที่อยู่ของเว็บไซต์ได้อย่างถูกต้องแต่ในความเป็นจริงแล้วคอมพิวเตอร์ที่เป็นผู้ให้บริการเว็บ หรือเว็บเซิร์ฟเวอร์ ( Web Server ) นั้น จะมีสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนที่แท้จริงด้วยหมายเลขไอพี ( IP Address ) ซึ่งเป็นระบบตัวเลขประจำตัวเครื่องแต่ละเครื่อง บริการ DNS นั้นจึงเป็นเพียงการจับคู่ระหว่างชื่อโฮสต์เข้ากับหมายเลขไอพีเพื่อความสะดวกในการอ้างอิงและจดจำเท่านั้น


รูปที่ 1 การทำงานของ Domain Name Service


ดังนั้นถ้าเราต้องการจัดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ของเราขึ้นเอง จะต้องมี 2 องค์ประกอบนี้คือ อันดับแรกต้องจดทะเบียนชื่อโดเมน ( Domain Name Registration ) เพื่อให้ได้ชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของเว็บไซต์ และลำดับที่สองจะต้องเช่าหมายเลขไอพีที่แท้จริง ( Real IP Address ) เพื่อกำหนดให้เว็บเซิร์ฟเวอร์ของเรามีตัวตนที่แท้จริงสามารถติดต่อได้จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทั่วโลก และมีหมายเลขที่คงที่แน่นอน ( Fix Address ) เปรียบเสมือนบ้านเลขที่หรือหมายเลขโทรศัพท์นั่นเอง ทั้งสองบริการนี้สามารถติดต่อผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือตัวแทนทั่วไปช่วยจัดหาให้ได้ มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องเช่าเป็นรายปีและรายเดือนตามลำดับ จึงเป็นต้นทุนสูงเกินกว่า SME จะแบกรับได้Dynamic DNS ขวัญใจคนประหยัดในยุคที่อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตระกูล DSL กำลังเฟื่องฟูเช่นปัจจุบัน การที่ผู้ใช้งานตามบ้านหรือ กิจการ SME จะนำบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงประเภทนี้มาติดตั้งใช้งานจึงไม่ใช่เรื่องยากเลย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ สามารถติดตั้งได้แทบจะทันทีที่ต้องการ ในขณะเดียวกันราคาค่าบริการก็แสนถูกและมีแนวโน้มจะลดราคาลงหรือไม่ก็จะได้ความเร็วสูงยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการ SME สามารถสร้างเครือข่ายและแชร์อินเตอร์เน็ตภายในสำนักงานได้อย่างง่ายดายโดยลงทุนอุปกรณ์เร้าเตอร์โมเด็มเพียงตัวเดียวเท่านั้นแต่ปัญหาของบริการอินเตอร์เน็ตประเภทนี้คือ หมายเลขไอพีที่เกิดจากการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตแต่ละครั้งจะเปลี่ยนค่าอยู่เสมอไม่คงที่ โดยผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตจะเป็นผู้แจกจ่ายออกมาให้แก่เร้าเตอร์ของเรา เรียกว่า Dynamic IP Address เช่น ในการเชื่อมต่อครั้งแรกอาจจะได้หมายเลขไอพี 203.177.128.51 ต่อมาวันรุ่งขึ้นเราอาจจะเชื่อมต่ออีกครั้งหนึ่งอาจจะได้หมายเลขไอพี 203.177.128.96 และเปลี่ยนไปทุกครั้งที่ทำการเชื่อมต่อใหม่ จึงทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ให้มีตัวตนแน่นอนในระบบอินเตอร์เน็ตได้ตามต้องการ


รูปที่ 2 ระบบเครือข่ายขนาดเล็กเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบ ADSL


ปัญหาดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยโซลูชั่นที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว คือ บริการ Dynamic DNS ซึ่งมีเว็บไซต์เปิดให้บริการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ thaiddns.com dyndns.org no-ip.com หลักการทำงานของบริการ Dynamic DNS นี้จะอาศัยกลไกของระบบ DNS ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ จะเปิดให้เราลงทะเบียนเป็นสมาชิกเสียก่อนจากนั้นจึงจะให้เลือกใช้โดเมนที่จัดเตรียมไว้ให้ ( เช่น homelinux.com ) แล้วกำหนดชื่อโฮสต์ประกอบเข้ากับชื่อโดเมนนี้เพื่อให้เป็นชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของเว็บเซิร์ฟเวอร์ของเราเอง ( เช่น mycom.homelinux.com ) ซึ่งชื่อนี้จะไม่ซ้ำกับสมาชิกคนอื่นๆ อีก จากนั้นจะเปิดสิทธิ์ให้เราล๊อกอินเข้าสู่ระบบเพื่อเข้าไปปรับปรุงหมายเลขไอพีให้แก่ชื่อโฮสต์นี้ได้ตามต้องการ เมื่อมีเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ตามในระบบอินเตอร์เน็ตอ้างถึงชื่อโฮสต์นี้ ผู้ให้บริการ Dynamic DNS จะแจ้งหมายเลขไอพีนี้ให้จึงทำให้คอมเพิวเตอร์เหล่านั้นเข้าถึงเว็บเซิร์ฟเวอร์ของเราได้โดยอ้างชื่อนี้ในที่สุดบริการ Dynamic DNS จึงช่วยให้ผู้ที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตราคาถูกทั่วไปและมีหมายเลขไอพีไม่คงที่สามารถจัดตั้งโฮสต์ของตนเองขึ้นที่บ้านหรือสำนักงานติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์หลังไฟร์วอลล์กรณีที่ใช้เร้าเตอร์โมเด็มแบบ ADSL เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต จะมีคุณสมบัติเกี่ยวกับไฟร์วอลล์ภายในเร้าเตอร์เหล่านี้ที่สนับสนุนการจัดตั้งเซิร์ฟเวอร์ไว้ภายในเครือข่ายของเราเอง แต่จะยินยอมให้เปิดบริการสู่เครือข่ายภายนอก ( อินเตอร์เน็ต ) ได้ด้วย คุณสมบัตินี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น Destination NAT ,Port Forwarding ,Virtual Server เป็นต้น ท่านควรศึกษาจากคู่มือการใช้งานของเร้าเตอร์โมเด็มที่ท่านใช้งานอยู่ ซึ่งมีวิธีการเซ็ตไม่ยากนัก ตัวอย่างหน้าจอการเซ็ตคุณสมบัตินี้ของเร้าเตอร์ Zyxel และ 3Com แสดงดังรูปที่ 3 และ 4 ตามลำดับ


รูปที่ 3 หน้าจอเซ็ตค่า NAT ของเร้าเตอร์ Zyxel




รูปที่ 4 หน้าจอเซ็ตค่า Virtual Server ของเร้าเตอร์ 3Com


หลังจากเปิดคุณสมบัติ NAT แล้ว โดยระบุหมายเลขไอพีของเครื่องเว็บเซิร์ฟเวอร์และหมายเลขพอร์ตที่ต้องการเปิดให้บริการทั้งภายใน ( เครื่องจริง ) และภายนอก ( พอร์ตที่มองจากอินเตอร์เน็ตผ่านเร้าเตอร์ ) ผู้ที่อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ตข้างนอกจะเข้ามายังหมายเลขไอพีของเร้าเตอร์จะถูกส่งผ่านเข้ามาในเครือข่ายภายในได้โดยมุ่งเข้าไปยังเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่เรากำหนดค่าไว้ และสามารถใช้งานเว็บไซต์ในเครื่องเว็บเซิร์ฟเวอร์ของเราได้เหมือนกับเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในระบบอินเตอร์เน็ตจริงๆดังนั้นถ้าเรานำหมายเลขไอพีของเร้าเตอร์ ( ค่าปัจจุบันที่กำลังเชื่อมต่ออยู่ ) ไปป้อนเก็บไว้ที่ผู้บริการ Dynamic DNS ก็จะทำให้ผู้ชมเว็บไซต์สามารถอ้างถึงเว็บไซต์ ( เว็บเซิร์ฟเวอร์ ) ของเราได้โดยอ้างถึงชื่อโฮสต์ที่เปิดบริการไว้ โดยไม่ต้องทราบหมายเลขไอพีของเร้าเตอร์ในเวลานั้น ซึ่งในความเป็นจริงผู้ชมเว็บไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีหมายเลขใด และยังเปลี่ยนค่าไปได้อีกหากมีการเชื่อมต่อใหม่อีกครั้งโปรแกรม Dynamic DNS Clientปัญหาต่อมาจึงเกิดคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ชื่อโฮสต์ของเราได้รับการปรับปรุงค่าหมายเลขไอพีให้ตรงกับความจริงอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะต้องให้เราดูค่าหมายเลขไอพีจากเร้าเตอร์แล้วล๊อกอินเข้าไปยังผู้ให้บริการ Dynamic DNS เพื่อป้อนค่าเองทุกครั้งคงไม่สะดวกอย่างแน่นอน ( ดูรูปที่ 7 )ทางออกของเราคือ ต้องอาศัยโปรแกรมประเภท Dynamic DNS Client โดยโปรแกรมประเภทนี้มีอยู่ด้วยกันหลายโปรแกรม บางโปรแกรมต้องรันในเครื่องที่เป็นวินโดวส์หรือลีนุกซ์เท่านั้น บางโปรแกรมเขียนขึ้นด้วยภาษาที่รันได้ทุกแพลตฟอร์ม เช่น Perl หรือ Java จะทำให้รันได้ทุกระบบ แม้กระทั่งเร้าเตอร์บางรุ่นยังมีคุณสมบัติด้าน Dynamic DNS Client นี้บรรจุไว้ในเครื่องเลยก็มี ได้แก่ Zyxel P660R จะมีเมนูที่ใช้กำหนดค่าไว้ให้แล้ว ดังรูปที่ 5


รูปที่ 5 เมนูกำหนดค่า Dynamic DNS Client ของ Zyxel P660R


หน้าที่ของโปรแกรมประเภทนี้ คือ จะทำการตรวจสอบหาค่าหมายเลขไอพีของเร้าเตอร์ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ผู้พัฒนาโปรแกรมขึ้นและบริการ Dynamic DNS ที่สนับสนุน เมื่อได้หมายเลขไอพีมาแล้วจะทำการล๊อกอินเข้าสู่เว็บไซต์ของผู้ให้บริการ Dynamic DNS ด้วยชื่อและรหัสผ่านสมาชิกของเรา แล้วปรับปรุงค่าหมายเลขไอพีให้แก่ชื่อโฮสต์ให้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องจัดการให้เจ้าโปรแกรมนี้ทำงานทุกๆ ครั้งที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตซึ่งค่าหมายเลขไอพีจะเปลี่ยนในเวลานั้น เพื่อให้ชื่อโฮสต์ของเราในระบบ DNS มีค่าหมายเลขไอพีเป็นปัจจุบันเสมอ


รูปที่ 6 การทำงานของโปรแกรม Dynamic DNS Client


ตัวอย่างการใช้งาน Dynamic DNSเริ่มต้นที่ระบบเครือข่ายภายในบ้าน/สำนักงานของเราก่อน แน่นอนว่าจะต้องมีระบบแลนพร้อมทั้งเร้าเตอร์เพื่อการเข้าสู่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ดังรูปที่ 2 สำหรับท่านที่ใช้ลีนุกซ์เป็นเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ควรเซ็ตโปรแกรมในส่วน Apache ให้เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ให้เรียบร้อย ในตัวอย่างนี้ผู้เขียนกำหนดให้เครื่องเซิร์ฟเวอร์นี้มีหมายเลขไอพีเป็น 192.168.0.20จากนั้นให้เปิดเว็บบราวเซอร์เข้าไปตั้งค่าการทำงานของเร้าเตอร์ วิธีการอาจจะแตกต่างกันไปดังที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว กรณีของผู้เขียนใช้ 3Com OfficeConnect ADSL Router จึงเซ็ตค่าตามรูปที่ 4 ทดสอบการทำงานได้ง่ายๆ โดยอาจจะลองเปิดดูเว็บไซต์โดยใช้หมายเลขไอพีของเร้าเตอร์ขณะนั้น ( ใช้เมนูแสดงสถานะของเร้าเตอร์ แล้วอาจจะโทรไปวานเพื่อนให้ช่วยทดลองเข้าเว็บด้วยไอพีนี้ก็ได้ ) ถ้าเข้าเว็บเซิร์ฟเวอร์ของเราได้แสดงว่าระบบ NAT หรือ Virtual Servers ของเราทำงานได้แล้วต่อไปให้เข้าสู่เว็บไซต์ผู้ให้บริการ Dynamic DNS ซึ่งในตัวอย่างนี้เลือกใช้บริการของ http://www.dyndns.org ในขั้นตอนการลงทะเบียนจะต้องกำหนด ชื่อสมาชิก รหัสผ่าน ชื่อโฮสต์และโดเมนที่เลือกใช้งาน ( ผู้เขียนเลือก mycom.homelinux.com ) เมื่อมีการตอบกลับผ่านทางอีเมล์แล้ว จะสามารถล๊อกอินเข้าใช้งานได้ดังรูปที่ 7


รูปที่ 7 หน้าควบคุมบริการ DynDNS.org หลังจากลงทะเบียนแล้ว


ดาวน์โหลดโปรแกรม Addns.pl จาก http://www.funtaff.com/software/addns.pl/ ซึ่งเป็น Freeware ขนาดเพียง 17.3 KB เท่านั้น


รูปที่ 8 เว็บไซต์ของ Addns.pl


ให้แตกไฟล์ addns-1.2.tar.gz ลงที่ /root แล้วเข้าสู่ไดเร็คทอรี่ /root/addns-1.2 จะเห็นไฟล์ที่ addns.pl เป็นตัวโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษา Perl ไฟล์ addns.conf.sample เป็นไฟล์คอนฟิกตัวอย่างที่เราจะสำเนาไปใช้งานในชื่อ /etc/addns.conf และไฟล์ README ที่เป็นเอกสารคู่มือเพียงชิ้นเดียวที่มีอยู่แต่ก็เพียงพอต่อการศึกษาเพื่อใช้งานแล้ว ในการติดตั้งให้สำเนาไฟล์ addns.pl ไปไว้ที่ /usr/local/sbin ดังรูปที่ 9


รูปที่ 9 การติดตั้งโปรแกรม Addns.pl


การคอนฟิกโปรแกรมควรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับบริการ DynDNS.org ไว้ให้พร้อม ได้แก่
  • ชื่อโฮสต์ ใช้กำหนดที่ update_host โดยโปรแกรมนี้สามารถทำงานได้กับโฮสต์มากกว่าหนึ่งชื่อ โดยใช้เครื่องหมายคอมม่า(,) คั่นระหว่างแต่ละชื่อ

  • วิธีการตรวจสอบหาหมายเลขไอพี ในที่นี้จะกำหนดให้ใช้วิธีตรวจสอบจากเว็บไซต์ checkip.dyndns.org

  • ชื่อและรหัสผ่านของยูสเซอร์สมาชิกที่ลงทะเบียนไว้ แล้วเปิดไฟล์ /etc/addns.conf แล้วแก้ไขข้อความดังตัวอย่าง ซึ่งได้เพิ่มเติมส่วนของ Log ขึ้นเพื่อให้จัดเก็บผลการทำงานไว้ตรวจสอบด้วย ซึ่งข้อความของ Log จะอยู่ที่ไฟล์ /var/log/addns.log ดังรูปที่ 12




  • รูปที่ 10 คอนฟิกที่ใช้งาน


    การสั่งให้โปรแกรมทำงานทำได้โดยสั่งโดยตรงจากบรรทัดคำสั่ง โดยพิมพ์ในฐานะ root
    # addns.pl -c=/etc/addns.conf
    จะปรากฏผลการทำงานทั้งบนจอภาพและเก็บไว้ที่ Log ด้วย ซึ่งในการใช้งานจริงควรกระตุ้นการทำงานด้วยโปรแกรม Cron โดยตั้งเวลาให้ทำงานทุกๆ 1-3 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้วสำหรับอินเตอร์เน็ตแบบ ADSL ที่มีลักษณะเป็น Always Online ในกรณีที่เราทำการปรับปรุงหมายเลขไอพีไปยัง DynDNS.org ถี่เกิดไปนั้น จะได้รับการปฏิเสธจากเซิร์ฟเวอร์โดยเป็นนโยบายของผู้ให้บริการอยู่แล้ว ดังนั้นการปรับปรุงหมายเลขไอพีซ้ำจึงไม่เกิดผลเสียแต่อย่างใด นอกจากทำให้ไฟล์ Log ของเราเพิ่มขนาดโดยไม่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งในส่วนการดูแล Log ควรบริหารไฟล์ Log นี้ด้วยระบบ Log Rotate ด้วยจะลดภาระผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ลงไปได้


    รูปที่ 11 การสั่งให้โปรแกรม Addns.pl ทำงานจาก Command Line





    รูปที่ 12 รายงานที่ปรากฏใน Log


    ข้อจำกัดของการตั้งโฮสต์แบบ Dynamic DNSการจัดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ในลักษณะเช่นนี้มีข้อควรพิจารณาคือ ระบบสื่อสารแบบ ADSL ของเรานี้มีความเร็วของการดาวน์โหลดสูง แต่การอัพโหลดต่ำ ดังนั้นเมื่อนำมาใช้งานเป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์จึงกลับทิศทางกันผลคืออัตราการให้บริการของเว็บไซต์ของเราจะมีค่าสูงสุดเท่ากับความเร็ว Upstream เท่านั้น ซึ่งบางทีอาจจะต่ำแค่ 128K เท่านั้น จึงควรพิจารณาประกอบการนำไปใช้งานด้วยอย่างไรก็ตามโซลูชั่นนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้เครือข่ายภายในบ้านหรือโฮมออฟฟิส สามารถเปิดให้บริการแก่บุคคลภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจ บริการสาธารณะ หรือเพื่อการใช้งานส่วนบุคคลก็ตาม นับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่า ( Value Added ) ให้กับสิ่งที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสนองความต้องการได้อย่างคุ้มค่าอีกวิธีหนึ่ง หากท่านสนใจการประยุกต์ใช้งานซอฟต์แวร์ในลักษณะเช่นนี้สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของผู้เขียน http://www.itdestination.com สวัสดีครับ


    ไม่มีความคิดเห็น: